วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แนวคิด ที่มา และความสำคัญของโครงงาน

กาบหอยแครง (Dionaea muscipula) หรือเรียกอีกชื่อว่า Venus Flytraps เป็นพืชกินแมลงชนิดหนึ่ง ใบแบ่งเป็นสองส่วนซึ่งใช้เป็นกับดัก พร้อมซี่ฟันปลาประมาณ 15-20 อัน ขอบใบใกล้กับฟันจะมีแถบเล็ก ๆ ซึ่งเป็นส่วนผลิตน้ำหวานเพื่อดึงดูดแมลงให้เข้ามากิน ใต้ขอบลงไปจะพบขนบางๆ 3-4 เส้นกระจายอยู่ภายในกาบแต่ละข้าง ขนพวกนี้จะตอบสนองต่อความรู้สึกเพื่อให้กาบหุบงับแมลง และการจับเหยื่อ จะต้องมีการสัมผัสขนเหล่านี้ตั้งแต่ 2 เส้นขึ้นไป อาจจะด้านละเส้นหรือด้านละ 2 เส้นก็ได้ ภายใน 20 วินาที เพราะเมื่อขนเหล่านี้โก่งงอ สนามไฟฟ้า (การเปลี่ยนแปลงประจุไฟฟ้าของผนังเซลล์จาก -160mV เป็น -50mV) เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของประจุไอออนแคลเซียม กระบวนการงับจะเสร็จภายในเวลา 1/20 วินาที ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หากสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิและความชื้น ไม่เหมาะสมจะส่งผลให้การงับช้าลงมาก หากเหยื่อมีโปรตีนก็จะส่งสารไปกระตุ้นตัวรับโปรตีน และในช่วงนี้จะมีการสร้างน้ำย่อยซึ่งมีเอนไซม์พิเศษออกมา กาบจะแคบลง และปิดลงในที่สุด ส่วนที่มีประโยชน์จะถูกย่อยและดูดซึมกลับโดยต่อมในกาบ หลังจากย่อยแล้วกาบจะเปิดออกอีกครั้ง การย่อยจะใช้เวลาตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงจนถึง 2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับขนาดของเหยื่อ ซึ่งโดยปกติใช้เวลา 3-5 วัน เนื่องจากการจับเหยื่อและการย่อยสลายเป็นเรื่องยากลำบาก หลังจากการพยายามจับเหยื่อ 7-10 ครั้งหรือการย่อยอาหาร 2-3 ครั้งตัวกาบก็จะตายไป
ต้นกาบหอยแครงจะขึ้นอยู่บริเวณป่าพรุและหนองน้ำที่มีอากาศอบอุ่น และจะขึ้นอยู่บนมอสบริเวณใต้ต้นหญ้า แต่เนื่องจากกาบหอยแครงเป็นพืชที่นิยมปลูกกันมาก จึงสามารถหาซื้อได้ทั่วไป เช่น ที่ตลาดนัดจตุจักร หรือตามร้านต้นไม้ต่างๆ นอกจากนี้ต้นกาบหอยแครงยังมีข้อดีคือ เลี้ยงง่าย ไม่ต้องการพื้นที่มากในการปลูก และยังสามารถนำมาขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มรายได้ได้อีกด้วย
ในปัจจุบันมีผู้คนจำนวนมากที่ซื้อต้นกาบหอยแครงไปปลูก เพื่อความสวยงาม และนอกจากนั้นจะมีผลพลอยได้คือ ต้นกาบหอยแครงเป็นพืชกินแมลง และโดยทั่วไปแมลงที่พบเห็นในบ้านจะเป็นแมลงวัน หรือยุง ซึ่งเป็นพาหะของโรคต่างๆ และที่สำคัญการกำจัดแมลงวิธีนี้ยังเป็นวิธีธรรมชาติที่ไม่ทิ้งสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะโดยปกติแล้วคนทั่วไปจะใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงตามบ้าน ซึ่งเป็นอันตรายต่อคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังก่อให้เกิดขยะที่ย่อยสลายยาก เพราะโดยส่วนมากขวดสเปรย์จะทำมาจากโลหะ ซึ่งต้องใช้เวลานานในการย่อยสลาย คณะผู้จัดทำโครงงานจึงเกิดแนวความคิดที่จะศึกษาอัตราเร็วในการหุบของกาบของต้นกาบหอยแครง โดยเลือกศึกษาในอุณหภูมิที่แตกต่างกัน เพื่อดูว่า ณ อุณหภูมิเท่าใดกาบของต้นกาบหอยแครงจะหุบได้ดีที่สุด เนื่องจากเวลาที่จะนำต้นกาบหอยแครงไปใช้จริงนั้น บ้านแต่ละบ้านจะมีอุณหภูมิที่แตกต่างกัน เช่น บางบ้านมีเครื่องปรับอากาศ แต่บางบ้านไม่มี คณะผู้จัดทำโครงงานคาดหวังว่าจะพบวิธีที่จะนำต้นกาบหอยแครงไปเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ความเพลิดเพลิน และยังทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการกำจัดแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง :
ภัทรา แสงดานุช และ วีระ โดแวนเว. พืชกินแมลง. กทม.: อมรินทรพริ้นติ้งแอนด์พับบลิชชิ่ง, 2551.
เศรษฐมันตร์ กาญจนกุล. ร้อยพรรณพฤกษา ไม้กินแมลง. กทม.: สำนักพิมพ์เศรษฐศิลป์, 2551.
สมาน แก้วไวยุทธ. ชีววิทยา ม.5 เล่ม 4. พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี: ไทเนรมิตกิจอินเตอร์โปรเกรสซิฟ จำกัด, 2544.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น